วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แรงจูงใจมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนอย่างไร






21 มิถุนายน 2553 14:00
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล




แรงจูงใจกับการเรียนการสอน
          การเรียนการสอนจะเกิดผลสมบูรณ์ต่อเมื่อ  ผู้เรียนมีความตั้งใจและสนใจทำงานที่ผู้สอนกำหนดอย่างกระตือรือร้น พฤติกรรมเหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาการสอนที่ดำเนินอยู่ แต่เท่าที่ปรากฏอยู่เสมอก็คือ ผู้เรียนไม่ต้องการที่จะเรียน ขาดความพยายามในการทำงานด้วยตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งผู้สอนจะต้องใช้เวลาไม่น้อย ในการตรวจสอบการทำงานของผู้เรียนตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ผู้สอนจะมีความรู้และความสามารถในการถ่ายทอดเพียงไรก็ตามก็ยากที่จะเอาชนะอุปสรรค ที่เกิดจากสภาพการณ์ที่ผู้เรียนไม่สนใจ นอกจากนี้ยังมีผลที่ทำให้ผู้สอนต้องเหนื่อยและหน่ายต่อการทำงานที่ดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหานี้ ผู้สอนจึงมีความจำเป็นจะต้องหาเทคนิค ที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจการเรียนสม่ำเสมอ นั่นก็คือเทคนิคการจูงใจผู้เรียนสนใจการเรียน หลักและวิธีการเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอน
                การจูงในเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนถูกกระตุ้น ให้แสดงพฤติกรรม ไปยังเป้าหมายที่ต้องการ แรงจูงใจจะกระตุ้นและผลัก ให้ผู้เรียนตอบสนองอย่างกระตือรือร้น และสามารถทำให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรมอย่างตั้งใจสม่ำเสมอ แรงจูงใจที่ผลักดันนี้ อาจจะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motives) ได้แก่ ความต้องการ ทัศนคติ ความทะเยอทะยาน ความสนใจ และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เป็นต้น หรือแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motives) อันได้แก่ ความมุ่งหวัง และความต้องการของบิดามารดา หรือเครื่องล่อ และบรรยากาศในการเรียน เป็นต้น แรงจูงใจจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดแนวทาง เกิดพลังช่วยกระตุ้นความสนใจ พัฒนาความสนใจและการใฝ่หาความรู้ ตลอดจนการเลือกพฤติกรรมที่แสดงออก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องแรงจูงใจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและลึกซึ้งเกินกว่าที่คิด ดังนั้นการศึกษาทฤษฎีต่างๆ ของแรงจูงใจ จึงเป็นเรื่องที่ผู้สอนควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
                ในการทำกิจกรรมใดๆ ของมนุษย์ย่อมมีสิ่งเร้าและแรงจูงใจเป็นสิ่งผลักดันให้มีความกระฉับกระเฉง จริงจังตั้งใจ การจูงใจ มีอิทธิพลให้พฤติกรรมมีความเข้มข้นแข็งขัน สู่ความสำเร็จ อย่างไม่เบื่อหน่าย การศึกษาเรื่องการจูงใจ ก็คือการศึกษาหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมนั่นเอง การจูงใจมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำให้การเรียนรู้มีผลเต็มที่ การจูงใจยิ่งสูงเพียงใด การเรียนรู้จะยิ่งเกิดในระดับสูงเพียงนั้น ที่คนเรามีกิจกรรมทำอะไรๆ ตลอดเวลาไม่อยู่นิ่งก็เพราะว่าแรงจูงใจนั่นเอง           
            จากการวิจัยและการสังเกตพฤติกรรมผู้เรียนที่มี แรงจูงใจต่ำ พบว่าจะมีลักษณะที่แสดงออกดังต่อไปนี้
            1. มาสายโดยไม่มีเหตุผลสมควร
            2. ออกจากห้องเรียนทันทีที่มีโอกาส (เข้าชั้นเรียน เพื่อต้องการได้เวลามาเรียนเท่านั้น)
            3. ทำงานที่มอบหมายไม่สำเร็จ หรือส่งงานช้าเป็นส่วนใหญ่
            4. ไม่ร่วมกิจกรรมขณะเรียน ไม่สนใจการสอน ไม่จดงาน
            5. ลอกงานจากเพื่อนเมื่อถูกบังคับให้ส่งงาน
            6. เข้าทำงานในห้องทดลอง หรือเข้าทำงานในโรงประลองไม่สม่ำเสมอ ไม่ให้ความร่วมมือขณะทดลอง หรือทำงานอย่างพอไปที ทำงานทดลองหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นระเบียบ
            7. อ่านหนังสืออ่านเล่น นิตยสาร หรือวาดรูป หรือเล่นเกมส์ เมื่อถูกบังคับให้อยู่ในห้องเรียน
            8. ถามคำถามน้อยมาก
            9. ไม่ต้องการเรียนพิเศษ หรือเข้าโปรแกรมการซ่อมเสริม
            10. ทำงาน ทำการบ้าน ทำข้อสอบทั้งสอบย่อยและสอบไล่ ไม่ถูกต้อง
            11. สนใจกิจกรรมที่สนุกสนานมากกว่าการเรียน
            12. ใช้เวลาว่างไม่มีระบบ
            13. มีทัศนคติและค่านิยมในการเรียนที่ไม่แน่นอน
            14. คุณภาพของงานวิชาการอยู่ในระดับต่ำ 
ส่วนผู้เรียนที่มี แรงจูงใจในตนเองสูง มีลักษณะที่แสดงออกดังตัวอย่าง เช่น
            1. เป็นผู้ที่มีเป้าประสงค์ และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ แสดงออกให้เห็นว่ามีการประเมินความสามารถของตนเอง
            2. ระดับของความทะเยอทะยาน (Level of Aspiration) มีความสัมพันธ์ (ตรงกัน) กับ     อัตมโนทัศน์ (Self-Concept)
            3. ตั้งใจในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ด้วยความรู้สึกที่ท้าทาย
            4. แสดงความวิตกกังวลที่จะทำให้ได้ตามมาตรฐาน และกระตือรือร้นในทุกอย่างที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
            5. สิ่งที่จัดว่าเป็นรางวัล มิใช่สิ่งของ แต่เป็นการที่ทำได้ตามมาตรฐานที่ตนได้วางไว้
            6. แสดงออกให้เห็นว่ามีแผนงานและตั้งใจที่จะดำเนินไปสู่แผนงานนั้นอย่างแน่วแน่
ลักษณะสำคัญของการจูงใจ
            1. พฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจ มักมีจุดมุ่งหมายปลายทาง เช่น นักศึกษามีความขยันในการศึกษาวิชาจิตวิทยา เพราะหลังได้ระดับคะแนน (Grade) A. จากวิชานี้
            2. พฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจเจ้าตัวอาจไม่รู้จุดหมายปลายทางก็ได้ นั่นคือ ในกรณีที่เกิดจาก แรงจูงใจไร้สำนึก คืออาจเนื่องจาการเก็บกด ตามแนวความคิดของ Sigmund Freud
            3. การจูงใจให้เกิดพฤติกรรมในคนเราไม่ใช่สิ่งตายตัว เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อน จึงควรให้ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ถูกจูงใจไว้ดังนี้
                    3.1 สังคมต่างกัน มักทำให้เกิดแรงจูงใจต่างกัน ลักษณะของพฤติกรรมที่ถูกจูงใจนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและประสบการณ์ของบุคคลเป็นสำคัญ จึงปรากฏว่าบุคคลที่อยู่ในวัฒนธรรมหนึ่งย่อมแสดงออกต่างจากบุคคลในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง และแม้ผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ก็ย่อมมีพฤติกรรมแตกต่างกัน เพราะมีประสบการณ์แตกต่างกัน
                    3.2 พฤติกรรมอย่างหนึ่งๆ อาจเกิดจากแรงจูงใจหลายๆ อย่างรวมกัน อาจเกิดจากความต้องการหลายประการ เช่น นายกล้า ยิงนางชม้อย เพราะต้องการแก้แค้นที่โกงแชร์, เด่นดังไม่ให้คนอื่นเอาอย่าง
                    3.3 บุคคลมีแรงจูงใจอย่างเดียวกัน มีความต้องการชนิดเดียวกัน ก็อาจแสดงพฤติกรรมออกมาคนละแบบ มีพฤติกรรมต่างกัน
                    3.4 แรงจูงใจต่างกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเหมือนกัน บุคคลที่มีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน มีความต้องการแตกต่างกัน ก็อาจแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปที่คล้ายกันได้
                    3.5 พฤติกรรมจูงใจ อาจเป็นพฤติกรรมที่พยายามปกปิดความต้องการที่แท้จริงไว้ เช่นไปรับประทานอาหาร (ทั้งๆ ที่ไม่หิว) ความต้องการที่แท้จริงมิใช่อาหาร แต่อาจเป็นเพราะว่าต้องการมีความสัมพันธ์กับแม่ค้าเป็นต้น
ประเภทของแรงจูงใจทางสังคม
            1. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement  Motive) คือแรงจูงใจที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ให้ได้รับความสำเร็จ บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงจะมีความมานะพยายาม อดทน ทำงานมีแผนตั้งระดับความหวังไว้สูง และพยายามเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ ส่วนผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่ำ มีลักษณะของการทำงานที่ไม่มีเป้าหมาย หรือตั้งเป้าหมายง่ายๆ เพราะกลัวความล้มเหลวในการทำงาน
            2. แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Affiliation Motive) เป็นแรงจูงใจที่บุคคลต้องการความรักและการยอมรับจากผู้อื่น เนื่องจากมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม สังคมจะสงบสุขน่าอยู่ก็เมื่อบุคคลในสังคมมีความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
            3. แรงจูงใจใฝ่ก้าวร้าว (Aggression Motive) เมื่อคนเรามีความไม่พอใจ ถูกขัดใจ ย่อมมีการแสดงออกถึงความรู้สึกกัน อาจมีการก้าวร้าวด้วยวาจา เช่น ดุด่า หรือก้าวร้าวด้วยการกระทำ เช่น การทำร้ายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย ความก้าวร้าวเกิดจากความต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดของตน
            4. แรงจูงใจใฝ่อำนาจ (Power Motive) ความต้องการอำนาจทำให้บุคคลเกิดแรงจูงใจที่ต้องการจะมีอำนาจเหนืออำนาจของบุคคลอื่น เพราะจะทำให้เขาพอใจ ถ้ารู้สึกว่าตนมีความสามารถที่จะเอาชนะและมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมได้
            5. แรงจูงใจใฝ่ที่พึ่ง (Dependency  Motive) เป็นแรงจูงใจที่ต้องการความช่วยเหลือ การสนับสนุน คำปรึกษาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ และการทำงาน
            แรงจูงใจที่กล่าวนี้ จะทำให้ครูได้เข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนว่าเกิดจากแรงจูงใจประเภทใด จะได้เข้าใจถึงการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ ได้ ลักษณะของแรงจูงใจจะมีความสัมพันธ์กัน เช่น คนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ก็อาจมีแรงจูงใจใฝ่ก้าวร้าวหรืออำนาจ เพราะเป็นช่องทางไปสู่ความสำเร็จได้ แต่อาจมีจุดหมายต่างกันคือ คนที่ใฝ่อำนาจ อาจแสดงอำนาจชื่อเสียงตำแหน่งมากกว่าความสำเร็จในการทำงาน ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จะต้องการทำงานโดยไม่สนใจอำนาจ ชื่อเสียง หรือตำแหน่งก็ได้ถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้
                แรงจูงใจที่สำคัญในการเรียนการสอนคือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้เขามีการพัฒนาในการเรียน ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงานและการดำรงชีวิตในอนาคต




 หนังสืออ้างอิง
      กฤษณา ศักดิ์ศรี, จิตวิทยาการศึกษา, (พระนคร : บำรุงสาส์น), 2530.
      เขียน วันทนียตระกูล , จิตวิทยาการศึกษา , ( เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์ ) , 2548.
      ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์, จิตวิทยาการศึกษา, ( กรุงเทพมหานคร : ศูนย์สื่อเสริม ), 2539.
      เพราพรรณ  เปลี่ยนภู่, จิตวิทยาการศึกษา, ( สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ), 2540.


 ค้นคว้าและเผยแพร่โดยพิมพ์แจกเมื่อ27 กันยายน2554โดยอ.กัญจนา เตชะอุดสน.GE(2/2544)

3 ความคิดเห็น: